วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ต้นกฤษณา

ต้นกฤษณา ชื่ออังกฤษ : Eagle Wood, Lignum Aloes, Agarwood, Aloe Wood, Calambac,
Aglia, Akyaw.
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aquilaria crassna Pierre ex H. Lec.
ชื่อวงศ์ : Thymelaeaceae
ชื่อพื้นเมืองอื่น : กฤษณา (ภาคตะวันออก) กายูการู กายูกาฮู (มาเลเซีย ปัตตานี) ไม้หอม (ภาคตะวันออก ภาคใต้) (บาลี) อครุ
ตคร (จีน) ติ่มเฮียง (ไม้หอมที่จมน้ำ)

 ประวัติ
ไม้หอมกฤษณา เป็นไม้หอมที่มีคุณค่ามาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เป็นหนึ่งในของหอมธรรมชาติ
4 อย่าง เรียกว่า จตุชาติสุคนธ์ ที่ใช้เผาและประพรมในพิธีกรรมต่างๆ เป็นเครื่องประทินผิว และใช้เข้าเครื่องยาหอมมาแต่อดีต
รวมทั้งส่งเสริมเป็นเครื่องราชบรรณการและเป็นสินค้าส่งออกที่ขึ้นชื่อของสยามถึงขนาดพระเจ้ากรุงสยาม คือ พระนารายณ์มหาราช
ได้โปรด ให้ผูกขาดการค้าไม้กฤษณาให้ซื้อขายจากหลวง และได้ผูกขาดต่อเนื่อง ทำรายได้แก่ประเทศชาติมาหลายยุคหลายสมัย
เพิ่งมายกเลิกในสมัยรัชกาลที่ 4 ทำให้ไม้กฤษณาถูกลักลอบโค่นลงเป็นจำนวนมาก เพื่อนำแก่นไม้หอม อันมีราคาสูงไปจำหน่ายยัง
ประเทศกลุ่มอาหรับ
ไม้กฤษณาชนิดที่ดีที่สุดในโลกนั้น พบหลักฐานในสมัยอยุธยา ในจดหมายของบริษัทอินเดียตะวันออก พ.ศ. 2222 ระบุว่าคือ
ไม้หอมกฤษณาจากบ้านนา (Agillah Bannah) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในจังหวัดนครนายก ชนิดนี้พบมากแถวบริเวณกัมพูชา แต่ในปัจจุบัน
ไม้กฤษณาคุณภาพดีที่สุดได้จากเขาใหญ่ ซึ่งเคยมีมากแถบดงพญาไฟ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไม้หอม เพื่อการส่งออกมาแต่อดีต ต้นตระกูล
การหาไม้กฤษณาจะมาจากบ้านบุเกษียร ลำคลองกระตุก บุตาชุ ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นทุ่งหญ้า อยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ลักษณะทั่วไป
กฤษณาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ มีความสูงตั้งแต่ 18-21เมตรขึ้นไปวัดโดยรอบลำต้นยาวประมาณ
1.5-1.8 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทรงเจดีย์ต่ำๆ หรือรูปกรวย ลำต้นเปลาตรง มักมีพูพอนที่โคนต้นเมื่อมีอายุมาก เปลือกนอกเรียบ
สีเทาอมขาว เนื้อไม้อ่อนสีขาว เปลือกหนาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร มีรูระบายอากาศสีน้ำตาลอ่อนทั่วไป เปลือกนอกจะปริเป็นร่อง
เล็กๆ เมื่อมีอายุมากๆ ส่วนเปลือกชั้นในมีสีขาวอมเหลือง
ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว รูปมน รูปไข่กลับหรือรูปยาวขอบขนานออกเรียบสลับกัน เนื้อใบเป็นมัน ปลายใบเรียวแหลม ใบกว้าง
2.5-3.5 เซ็นติเมตร ยาว 7-9 เซ็นติเมตร ใบแก่เกลี้ยงเป็นมัน แต่ใบอ่อนสั้นและคล้ายไหม
ดอก สีขาว ไม่มีกลีบดอก ออกเป็นช่อเล็กๆ มีกลิ่นหอม เป็นดอกสมบูรณ์เพศเกิดที่ง่ามใบหรือยอด เป็นแบบ Axillary
หรือTerminal umbles ก้านดอกสั้น มีขนนุ่มอยู่ทั่วไป ตามง่ามใบและดอก ออกดอกในช่วงฤดูร้อน และกลายเป็นผลแก่ในประมาณ
เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
ผล เป็นแบบ Capsule รูปไข่กลับค่อนข้างแบนส่วนที่ติดกับขั้วเล็ก เปลือกแข็ง มีขนสีเทา ผลยาวประมาณ 2 .5
เซ็นติเมตร กว้างประมาณ 1.5-2 เซ็นติเมตร ในเดือนสิงหาคม ผลเริ่มแก่และจะแตกอ้า มีเมล็ด 1 หรือ 2 เมล็ด แบบ Ovoid
ขนาดของเมล็ดยาว5-6 เซ็นติเมตร มีหางเมล็ดสีแดงหรือส้ม ปกคลุมด้วยขนสั้นนิ่มมีสีแดงอมน้ำตาล
ลักษณะของเนื้อไม้ ลักษณะของเนื้อไม้กฤษณาจะมีทั้งเนื้อไม้ปกติ และเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา ซึ่งคนไทยรู้จัก
จำแนกความแตกต่างมาแต่โบราณแล้ว ดังกล่าวถึงในมหาชาติ คำหลวงสมัยอยุธยาตอนต้น พ.ศ. 2025 ว่ามีทั้งกฤษณาขาว
(เสตครู) และกฤษณาดำ (ตระคัร) ซึ่งมีเนื้อไม้หอม
เนื้อไม้กฤษณา ปกติจะมีสีขาวนวลเมื่อตัดใหม่ๆ ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เสี้ยนจะตรง เนื้อหยาบปานกลาง เลื่อยผ่าได้ง่าย ขัดซักเงาไม่ได้ดี ไม่ค่อยทนทาน อยู่ในน้ำจะทนทานพอประมาณ เมื่อแปรรูปเสร็จแล้ว ควรรีบกองผึ่งให้แห้งโดยเร็ว ในการผึ่งจะมีการปริแตกได้ง่าย และมักจะถูกเห็ดราย้อมสีเกาะ ทำให้ไม้เสียสี
ส่วนเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา จะมีสีดำ หนัก และจมน้ำ คุณภาพของเนื้อไม้ขึ้นอยู่กับการสะสมของน้ำมันกฤษณาภายใน
เซลล์ต่างๆ ของเนื้อไม้ องค์ประกอบทางด้านเคมีของน้ำมันหอมระเหยจากกฤษณา ประกอบด้วยสารที่เป็นยางเหนียว (Resin) อยู่
มาก สารที่ทำให้เกิดกลิ่นหอม คือ Sesquiterpene alcohol มีหลายชนิด คือ Dihydroagarofuran, b. Agarofuran,
a-Agarofuran, Agarospirol และ Agarol (มีชัย, 2532)
การใช้ประโยชน์
ด้านเนื้อไม้แปรรูป ใช้ทำกระดานพื้น ฟืน
ด้านเครื่องหอมและประทินโฉม เนื้อไม้กฤษณาเมื่อถูกเชื้อราชนิดหนึ่งเข้าทำลายตามบาดแผลที่กิ่งก้าน ต้น เนื้อไม้ ราก จะกลาย
เป็นสีน้ำตาลถึงสีดำ เรียกว่าเกิด "กฤษณา" มีราคาแพงตามความเข้มของสีกฤษณา มีการทดลองเจาะลำต้น กิ่งก้านต้นกฤษณา แล้ว
ใส่เชื้อราเข้าไป เพื่อเร่งการเกิดสารดังกล่าว แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร น้ำมันที่กลั่นออกมาจากกฤษณาหอมรุนแรงมาก ใช้
ในการทำเครื่องหอม เครื่องสำอาง ทำธูป เป็นส่วนผสมยา ทำลูกประคำ และหีบใส่เครื่องเพชร ชาวอาหรับ อิสลาม นิยมจุดให้กลิ่นมาก
ปัจจุบันนี้มีการตัดชิ้นไม้กฤษณาสดมากลั่น
ด้านเปลือก ให้เส้นใย ใช้ทำเสื้อผ้า ถุงย่าม ที่นอน เชือก และกระดาษ
ด้านสมุนไพร สรรพคุณตามตำราไทยคือ
เนื้อไม้ บำรุงโลหิตในหัวใจ บำรุงตับและปอดให้เป็นปกติ แก้ลม แก้ลมซาง แก้ลมอ่อนเพลีย ทำให้ชุ่มชื่นใจ บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ
แก้ไข้ บำรุงโลหิต รักษาโรคปวดข้อ
แก่นไม้ บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงตับและปอดให้ปกติ
น้ำมันจากเมล็ด รักษาโรคผิวหนัง แก้โรคเรื้อน แก้มะเร็ง
ไม่ระบุส่วนที่ใช้ บำรุงโลหิต แก้ตับและปอดพิการ แก้ไข้เพื่อเสมหะและลม บำรุงโลหิตในหัวใจ ทำตับปอดให้ปกติ คุมธาตุ
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ลดความดันโลหิต
ด้านการเป็นไม้ประดับ ความสนใจของไม้ต้นนี้คือ รูปทรงของลำต้นเป็นรูปเจดีย์คว่ำใบหนาเป็นมันดูเข้มแข็ง และไม่ผลัดใบ
เป็นไม้ที่หายาก และมีคุณค่าสูงมาก ถือเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ปลูกไว้เป็นไม้ประดับได้สวยงาม แต่ควรพิจารณาพื้นที่ปลูกให้เหมาะสม
การตรวจคุณภาพของไม้กฤษณา
การตรวจคุณภาพของไม้กฤษณา ถ้าทิ้งท่อนกฤษณาลงในน้ำท่อนที่จมน้ำมีคุณภาพดีเลิศเรียก "Gharki" ชนิดนี้เนื้อไม้
จะเป็นสีดำ มีกลิ่นหอม นิยมใช้ทางยา ถ้าท่อนใดลอยปริ่มน้ำมีสีน้ำตาลอ่อน หรือน้ำเงินเข้ม จะเป็นกฤษณาชนิดกลาง
เรียก "Neem Gharki" สำหรับท่อนที่ลอยน้ำเป็นกฤษณาชนิดเลวเรียก "Samaleh" พบอยู่ทั่วๆไป เมื่อเผาเนื้อไม้เกือบไม่มีกลิ่นหอม
เชิงเศรษฐกิจ
ในปัจจุบันคนเริ่มมีความสนใจและปลูกกันมากขึ้น เพราะเห็นว่ามีช่องทางที่จะทำเป็นการค้าขายได้ แต่ความเป็นจริงยังไม่
สามารถหาข้อสรุปได้ ถึงเรื่องของปริมาณจำนวนแผลที่จะเกิดขึ้นต่อต้นเป็นเท่าไรและจะเกิดผลผลิตเท่าไร ทั้งนี้จะต้องอยู่ในระยะเวลา
ที่กำหนดด้วย คือยังไม่สามารถที่จะคาดการณ์ถึงผลกำไรว่าจะคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่ ในแง่ของการส่งเสริมคิดว่าไม่แนะนำให้ปลูก
เพราะว่าดูแลยาก จะต้องดูถึงสภาพดินและพันธุ์ไม้ด้วย อาจจะไม่คุ้มกับทุน แต่ถ้าจะปลูกแบบแซมกับต้นไม้ชนิดอื่นๆ ปลูกรอบสวน
ปลูกบังลม แล้วปล่อยให้โตเองโดยที่ไม่ต้องดูแลมาก แต่อาจจะทำให้เกิดแผลไปเรื่อยๆ ไม่ควรปลูกโดยใช้พื้นที่จำนวนมากหรือเป็นป่า
เพราะผลผลิตอาจเกิดน้อย ส่วนใหญ่มักนำเนื้อไม้ไปทำพวกกล่องเพชร ลูกประคำ คันธนู ฯลฯ แต่คุณค่าจริงๆ อยู่ที่น้ำมันกฤษณา จึง
ต้องใช้เวลานานในการปลูก เพราะฉะนั้นจึงจะต้องมีทุนจำนวนมากและมีพื้นที่
ข้อแนะนำสำหรับเกษตรกรผู้สนใจ
1. สำหรับเกษตรกรที่มีทุนมาก และสามารถรอได้ จะปลูกเป็นผืนป่าก็ได้
2. สำหรับเกษตรกรที่มีทุนน้อย ควรจะปลูกแบบรอบๆ สวนมากกว่า
ที่มา
http://it.doa.go.th/aquilaria/index.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น